“กฎหมายบราซิลมีโทษจำคุกสูงสุด 30 ปี แต่ผมเหมือนต้องติดคุกนานกว่า 50 ปี” โมอาซีร์ บาร์โบซา เคยกล่าวเอาไว้
เขาคือผู้รักษาประตูฝีมือดีของทีมชาติบราซิล ในยุค 1940s-1950s ด้วยสไตล์การป้องกันที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร รวมถึงร่วมคว้าแชมป์ระดับทวีปทั้งในทีมชาติและสโมสร
นอกจากนี้ บาร์โบซา ยังโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมในฟุตบอลโลกครั้งแรกของเขาในปี 1950 หลังเซฟอุตลุดช่วยให้ขุนพลเซเลเซา เข้าชิงชนะเลิศต่อหน้าแฟนบอลของตัวเอง
อย่างไรก็ดีชีวิตของเขากลับพลิกผันในนัดสุดท้าย เมื่อการเสียประตูไม่เพียงแต่ทำให้บราซิลพลาดแชมป์โลก แต่ยังทำให้เขาถูกตำหนิจากคนทั้งชาติ จนสิ้นลมหายใจ
เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น
มือหนึ่งแห่งละตินอเมริกา
โมอาซีร์ บาร์โบซา นาสซิเมนโต หรือ โมอาซีร์ บาร์โบซา ถือกำเนิดขึ้นในปี 1921 ที่เมืองคัมปินาส รัฐเซาเปาโล ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล และเขาเองก็เหมือนกับเด็กบราซิลในยุคนั้นที่ชื่นชอบในการเล่นฟุตบอล กีฬาที่ชาวอังกฤษนำเข้ามาในดินแดนแห่งนี้เมื่อ 50 ปีก่อน
บาร์โบซา เริ่มต้นในตำแหน่งกองหน้า ก่อนจะเปลี่ยนมาเล่นตำแหน่งผู้รักษาประตูตามคำแนะนำของพี่เขย ก่อนจะยึดตำแหน่งนี้เป็นการถาวรตั้งแต่ตอนที่เล่นให้กับทีมในท้องถิ่น จนกระทั่งย้ายมาเล่นให้กับ วาสโก ดา กามา ทีมดังแห่งรัฐริโอ เดอ จาเนโร
แม้ว่า บาร์โบซา จะมีส่วนสูงเพียงแค่ 174 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าตัวไม่ใหญ่สำหรับตำแหน่งนายทวาร แต่เขามีจุดเด่นที่การยืนตำแหน่งอันยอดเยี่ยมและสไตล์การเล่นที่กล้าบ้าบิ่นไม่กลัวเจ็บ ที่พร้อมทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้บอลข้ามเส้นไม่ว่าจะเสี่ยงแค่ไหน
“เขาเคยได้รับบาดเจ็บที่มือซ้าย 6 ครั้ง มือขวา 5 ครั้ง และขาหัก 2 ครั้ง ในจุดที่ต่างกัน” บรูโน เฟรตาส
นอกจากนี้ด้วยรูปร่างของเขา ทำให้ บาร์โบซา ไม่เคยรอให้คู่แข่งเลี้ยงเข้ามายิง กลับกันตัวเขาเองเป็นฝ่ายทิ้งปากประตูออกไปบีบมุมยิงของคู่แข่ง ซึ่งเป็นวิธีการเล่นที่ต่างไปจากผู้รักษาประตูคนอื่นในยุคนั้น
“เขาเปลี่ยนวิธีการเล่นของผู้รักษาประตูบราซิล ในยุคของเขาผู้รักษาประตูมักจะถูกจำกัดให้อยู่แต่ในกรอบ 6 หลา แต่เขาจะออกมาปิดพื้นที่ เขามักจะกระโจนจากหน้าปากประตูเพื่อเซฟบอลด้วยขา ด้วยมือ หรือวิธีใดก็ตามเท่าที่ทำได้ เขาคือผู้บุกเบิก” คาร์ลอส อัลแบร์โต คาร์วัลเญโร เพื่อนร่วมทีมวาสโก กล่าว
ตลอด 5 ปีแรกกับวาสโก เขาประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ทั้งแชมป์รัฐริโอ 3 สมัยในปี 1945, 1947 และ 1949 รวมถึงคัมปีนาโต ซุล อเมริกาโน เด คัมปีโอเนส ศึกชิงแชมป์สโมสรระดับทวีป ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของ โคปา ลิเบอร์ตาดอเรส ในปี 1948
ผลงานดังกล่าวทำให้ในปี 1949 ฟลาวิโอ คอสตา กุนซือทีมชาติบราซิล เรียกเขามาติดทีมชุดลุยศึก โคปา อเมริกา ในบ้านเกิด แทนที่ โอเบอร์ดาน คัตตานี มือหนึ่งของทีมที่ได้รับบาดเจ็บ
แม้ว่าในตอนแรกจะมีเสียงต่อต้านอันเนื่องมาจากอคติด้านเชื้อชาติ จากการที่ บาร์โบซา เป็นคนผิวดำ แต่ฟอร์มอันสุดยอดของเขาใน โคปา อเมริกา ที่ช่วยให้บราซิลคว้าแชมป์ในบั้นปลาย ก็ทำให้ชาวบราซิลเริ่มเปิดใจยอมรับเขามากขึ้น
และเมื่อฟุตบอลโลก 1950 ที่บราซิลจะเป็นเจ้าภาพเป็นครั้งแรกมาถึง โกลมือหนึ่งของบราซิลคงจะไม่ใช่ใครนอกจาก โมอาซีร์ บาร์โบซา
เวทีประกาศศักดา
ในช่วงทศวรรษที่ 1950s บราซิล ยังถือเป็นประเทศน้องใหม่ แม้ว่าพวกเขาจะประกาศแยกตัวจากอาณาจักรโปรตุเกสมาตั้งแต่ปี 1822 แต่เอกราชที่แท้จริงเพิ่งจะเกิดขึ้นเพียงแค่ 61 ปี หลังเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐในปี 1889
นั่นทำให้ บราซิล หมายมั่นปั้นมือที่จะประกาศศักดาให้โลกให้เห็นมาตลอด แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยมีโอกาสมากนัก พวกเขาไม่ได้เป็นแนวหน้าทั้งในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 หรือในโลกกีฬาก็คว้ามาได้เพียงแค่ 4 เหรียญในโอลิมปิก ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20
จนกระทั่งในปี 1946 โอกาสของ บราซิล ก็มาถึง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่นงานยุโรปส่วนใหญ่จนราบเป็นหน้ากลอง และไม่มีประเทศใดในทวีปแห่งนี้พร้อมเป็นเจ้าภาพ ทำให้ บราซิล ที่เคยบิดแข่งกับ เยอรมัน ในฟุตบอลโลก 1942 (ที่ถูกยกเลิกไป) ได้รับเลือกสำหรับครั้งนี้
มันจึงไม่ใช่แค่ความหวังแต่เป็นความคาดหวัง เพราะหนึ่งปีก่อนหน้านั้นพวกเขาเพิ่งจะคว้าแชมป์โคปา อเมริกา และเชื่อว่าตัวเองแข็งแกร่งที่สุดในโลก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของยุคที่ยังไม่มีโทรทัศน์ที่แต่ละชาติมักจะเชื่อว่าตัวเองเป็นชาติที่เก่งที่สุด มีนักเตะที่ดีที่สุด และมีสไตล์การเล่นที่ยอดเยี่ยมที่สุด
นอกจากนี้ในฐานะเจ้าภาพ บราซิล ที่นำทัพโดย ซิซินโญ ยังถูกมองว่าเป็นตัวเต็ง และหวังประกาศศักดาในเวิลด์คัพให้ได้เสียที หลังผลงานที่ดีที่สุดในฟุตบอลโลก 3 ครั้งก่อนหน้านี้คืออันดับ 3 ในปี 1938
บราซิล จึงเล่นอย่างตั้งใจ และพวกเขาก็ไม่ได้ทำให้แฟนบอลในชาติผิดหวัง ด้วยการเปิดสนามไล่อัด เม็กซิโก ไปอย่างขาดลอย 4-0 แม้ว่าเกมต่อมาจะสะดุดเสมอกับ สวิตเซอร์แลนด์ 2-2 แต่นัดสุดท้ายก็เก็บ 2 คะแนน ด้วยการไล่อัด ยูโกสลาเวีย 2-0 และจบในตำแหน่งแชมป์กลุ่ม ผ่านเข้าสู่รอบต่อไป
ในรอบนี้จะเป็นรอบตัดสินที่จะเอาแชมป์จาก 4 กลุ่มมาเตะกันแบบพบกันหมดในรูปแบบมินิลีก โดยหาผู้ที่มีคะแนนมากที่สุด ซึ่งบราซิลมี อุรุกวัย เพื่อนร่วมทวีป, สวีเดน คู่ชิงอันดับ 3 ของพวกเขาในฟุตบอลโลก 1938 และ สเปน เป็นผู้ร่วมชิงชัย
เกมแรกขุนพลเซเลเซาเริ่มต้นได้อย่างร้อนแรง ด้วยการไล่ถล่มสวีเดนไปอย่างขาดลอย 7-1 ก่อนจะไล่อัดสเปน 6-1 ในเกมนัดที่ 2 ทำให้พวกเขาเหลือคู่แข่งเพียงแค่ทีมเดียว นั่นคือ อุรุกวัย ที่เสมอกับ สเปน มา 2-2 และเฉือนเอาชนะ สวีเดน 3-2 ใน 2 เกมแรก
ทำให้เกมนัดสุดท้ายระหว่าง บราซิล และ อุรุกวัย จึงเป็นเหมือนนัดชิงชนะเลิศโดยพฤตินัย ซึ่งฝั่งเจ้าภาพเป็นฝ่ายถือไพ่เหนือกว่า จากการต้องการเพียงแค่ผลเสมอก็จะคว้าแชมป์โลก ส่วนผู้มาเยือนต้องชนะเพียงแค่สถานเดียวเท่านั้น
และสังเวียนที่จะเป็นนัดตัดสินก็คือ เอสตาดิโอ โด มาราคานา ในเมืองริโอ เดอ จาเนโร ที่จุแฟนบอลได้มากกว่า 100,000 คน
ใครเห็นก็บอกว่าแชมป์ แต่…
16 มิถุนายน 1950 คือวันที่คนบราซิลทั้งประเทศรอคอย ในวันนั้นผู้คนกว่า 150,000 คน หรือบางสื่อรายงานว่าอาจจะไปถึงเกือบ 200,000 คน ทะลักเข้าไปในสนามมาราคานา เพื่อเป็นประจักษ์พยานในการคว้าแชมป์โลกสมัยแรกของบราซิล
ในวันนั้นทางการประกาศให้เป็นวันหยุดอย่างไม่เป็นทางการ ร้านรวงในริโอพากันปิดทำการ ก่อนเกม สื่อของบราซิล พาดหัวข่าวอย่างมั่นใจว่า “พรุ่งนี้เราจะเอาชนะอุรุกวัย” ขณะที่ สื่ออีกเจ้าหนึ่งไปถ่ายรูปนักเตะทีมชาติ พร้อมคำบรรยายว่า “พวกเขาเหล่านี้คือแชมป์โลก”
หรือแม้แต่นักการเมืองก็พยายามเข้ามามีส่วนร่วม แองเจโล เมนเดส เดอ โมเรส นายกเทศมนตรีของริโอ ก็ออกมาอวยพร โดยมีนัยยะของความมั่นใจ
“พวกคุณ เหล่านักเตะ คือผู้ที่จะได้รับการเชิดชูจากคนนับล้านในชาติกับฐานะการเป็นแชมเปี้ยนส์ในอีกไม่กี่ชั่วโมงจากนี้” โมเรส กล่าวกับขุนพลบราซิลก่อนนัดชิงชนะเลิศ
“พวกคุณคือคนที่ไร้คู่แข่งจากในซีกโลกนี้ พวกคุณคือคนที่สามารถเอาชนะได้ไม่ว่าจะเป็นใคร พวกคุณคือคนที่ผมจะยกย่องในฐานะผู้ชนะ”
แม้ว่าตลอด 45 นาทีแรก บราซิลจะเจาะตาข่ายของอุรุกวัยไม่ได้ แต่ผลงานของ บาร์โบซา ก็ถือว่าสมบูรณ์แบบ เขาช่วยเซฟให้ทีมหลายครั้ง และทำให้ครึ่งแรกจบลงด้วยผลเสมอ 0-0
เริ่มครึ่งหลังมาไม่กี่นาที เฟรียกา กองหน้าจากเซาเปาโล ก็ทำให้แฟนบอลนับแสนในมาราคานาได้เฮ เมื่อได้บอลเข้าไปซัดผ่านมือ โรเก มันโปลี นายด่านของอุรุกวัย ให้บราซิลออกนำไปอย่างรวดเร็วในนาทีที่ 47
อย่างไรก็ดีในนาทีที่ 66 ก็เป็นทีของผู้มาเยือนบ้าง อัลซิเดส กิกเกียร์ พาบอลหนี บิโกเด แนวรับของบราซิลไปทางริมเส้นฝั่งขวา ก่อนจะเปิดมาให้ อัลแบร์โต เชียฟฟิโน ซัดที่เสาแรกเสียบมุมเข้าไปให้อุรุกวัยตามตีเสมอได้สำเร็จ
ก่อนที่ในนาทีที่ 79 กิกเกียร์ คนเดิมจะมาแผลงฤทธิ์อีกครั้ง เมื่อเอาชนะ บิโกเด เข้าในในเขตโทษทางฝั่งขวา แม้จะเหลือมุมไม่มาก แต่การยิงเสาแรกทำให้ บาร์โบซา ไม่ทันระวัง และกว่าที่เขาจะรู้ตัว บอลก็เบียดเสาเข้าไปตุงตาข่ายเป็นที่เรียบร้อย
หลังจากนั้น บราซิล โหมเกมบุก แต่ก็ไม่สามารถส่งบอลผ่านมือผู้รักษาประตูอุรุกวัยได้ จบเกมกลายเป็นผู้มาเยือนที่บุกมาเอาชนะได้อย่างพลิกล็อก 2-1 และทำให้สนามมาราคานาตกอยู่ในความเงียบสงัด
“มีเพียงแค่สามคนที่ทำให้มาราคานาเงียบได้คือ ซินาตรา, พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 และผม” อัลซิเดส กิกเกียร์ กล่าวหลังเกม
ชัยชนะดังกล่าวช่วยให้ อุรุกวัย เก็บ 2 คะแนนสำคัญ (ในยุคนั้นยังใช้ระบบ ชนะได้ 2 คะแนน เสมอได้ 1 คะแนน) รวมมี 5 คะแนนจากผลชนะ 2 เสมอ 1 แซง บราซิล ที่มี 4 คะแนน ขึ้นไปคว้าแชมป์กลุ่ม และทำให้พวกเขาคว้าแชมป์โลก สมัยที่ 2 ในประวัติศาสตร์มาครองได้สำเร็จ
และแชมป์ครั้งนั้นของพวกเขา ก็ทำให้ชายคนหนึ่งต้องพบกับฝันร้ายไปตลอดชีวิต
แพะรับบาป
หลังเกมนัดสุดท้าย ผู้คนทั้งบราซิลล้วนตกอยู่ในอาการผิดหวัง เมื่อแชมป์โลกของพวกเขาต้องหลุดลอยไปทั้งที่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 15 นาที ขณะที่บางคนบอกว่ามันคือหายนะของประเทศ
“ทุกที่ล้วนมีภัยพิบัติระดับชาติที่แก้ไขไม่ได้ เหมือนกับฮิโรชิมา (ในสงครามโลกครั้งที่ 2) ภัยพิบัติของเรา ฮิโรชิมาของเราคือความพ่ายแพ้ต่ออุรุกวัยในปี 1950” เนลสัน โรดริเกซ นักข่าว นักเขียนบทละคร และนักเขียนชื่อดัง พูดถึงเกมนั้น
ในขณะที่สื่อก็ออกมาวิจารณ์ถึงความพ่ายแพ้ในเกมนัดนี้อย่างไม่ยั้ง แต่คนที่ตกเป็นเป้ามากที่สุดคือ บาร์โบซา ที่กลายเป็นแพะรับบาปของหนังสือพิมพ์ในริโอ และเซาเปาโล
“บาร์โบซา ซึ่งเล่นดีมาตลอด พลาดในสองประตูที่น่าจะป้องกันได้” หนังสือพิมพ์ ระบุ
หลังจากนั้นจากความผิดหวังจึงกลายเป็นความโกรธแค้น และถึงขั้นมีข่าวลือว่ามีแฟนบอลที่เสียใจกำลังจะบุกมาเผาบ้านของ บาร์โบซา ทำให้เขาและ โคลทิลเด ภรรยา ต้องอพยพออกจากบ้านเป็นการชั่วคราว
ระหว่างการเดินทางด้วยรถไฟ เขาต้องซื้อหนังสือพิมพ์มาอำพรางตัว แต่ก็ยังได้ยินคนพูดถึงเกมนัดชิงชนะเลิศนัดนี้ ตอนแรกพวกเขาพูดถึงกิกเกียร์ แต่สุดท้ายหัวข้อของการสนทนาก็เบนเป้ามาที่เขา
“บาร์โบซาล่ะเป็นไง ?” ชายคนหนึ่งพูด “เขาเล่นเหมือนเด็กน้อยทั้งสองประตูเลย ถ้ากูได้เล่นเกมนั้นและมีรองเท้า กูทำได้ดีกว่าเขาแน่ ๆ ”
“ก็อย่างที่เห็น ถ้ากูเจอไอ้ดำนั่น กูไม่รู้ว่ากูจะทำอะไรกับเขา” ชายอีกคนพูดอย่างมีอารมณ์
ด้วยความอดรนทนไม่ไหว ทำให้สุดท้าย บาร์โบซา ลุกขึ้นมาแสดงตัว และทำให้ชายทั้งสองรีบลงรถไปเมื่อถึงสถานี แต่นั่นก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เมื่อมีคนอีกมากมายที่พากันตำหนิเขา
หลังจากฟุุตบอลโลก บาร์โบซา ได้เล่นทีมชาติอีกเพียงแค่เกมเดียวในปี 1953 ในเกมที่คว้าชัยเหนือเอกวาดอร์ 2-0 ก่อนจะได้รับบาดเจ็บในเกมสโมสรก่อนฟุตบอลโลก 1954 หลังจากนั้นทีมชาติบราซิลกับเขาก็กลายเป็นเส้นขนาน
“ในปี 1954 ผู้คนต่างคิดว่าบาร์โบซาคือขยะ” เทเซรา ไฮเซอร์ นักข่าวที่เกาะติดชีวิตของบาร์โบซา บอกกับ ESPN
“ไม่มีใครอยากพูดเรื่องเขา ทุกคนในบราซิลโทษว่าบาร์โบซาคือต้นเหตุของความพ่ายแพ้ในปี 1950”
ก่อนที่สิ่งนี้จะตามหลอกหลอนเขาไปจนวันตาย
จำคุกตลอดชีวิต
บาร์โบซา ต้องเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบากหลังปี 1950 แม้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จกับวาสโก ด้วยการคว้าแชมป์รัฐอีก 2 สมัย แต่ในนามทีมชาติ ฟุตบอลโลกครั้งนั้นคือครั้งสุดท้ายในชีวิต ก่อนที่เขาจะแขวนสตั๊ดในปี 1962 ด้วยวัย 41 ปี
อย่างไรก็ดีแม้จะเลิกเล่นไปแล้ว แต่ฝันร้ายของ บาร์โบซา ก็ไม่เคยจางหายไป เขากลายเป็นจำเลยสังคมและถูกบล็อกไม่ให้ได้งานโค้ชหลังแขวนสตั๊ด จนต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะผู้ดูแลสระว่ายน้ำในมาราคานา สนามที่เคยสร้างความเจ็บปวดให้เขา
บาร์โบซา ยังกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้บราซิลเลือกที่จะไม่ใช้ผู้เล่นผิวดำในตำแหน่งผู้รักษาประตูอีกเลย เพราะหลังจากปี 1950 เป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษที่โกลผิวดำไม่ถูกเรียกติดทีมชาติ จนกระทั่ง ดิดา มาทำลายตราบาปนี้หลังลงเล่นให้กับทัพเซเลเซาในศึกโคปาอเมริกาเมื่อปี 1995
“หลังปี 1950 นักเตะผิวดำก็สูญเสียความมั่นใจ พวกเขากลัวว่าจะถูกตำหนิเหมือนกับบาร์โบซาเวลาทีมแพ้” ไฮเซอร์ อธิบายกับ ESPN
มันกลายเป็นเรื่องที่ไม่เคยได้รับการให้อภัย แม้กระทั่งในปี 1970 ที่บราซิลจะเพิ่งคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 3 เขาก็ยังถูกเรียกจากผู้หญิงคนหนึ่งที่บังเอิญเจอในตลาดว่าเป็นคนที่ทำให้คนบราซิลต้องเสียใจ
“นั่นไงลูก คนที่ทำให้คนบราซิลทั้งประเทศต้องร้องไห้” หญิงสาวคนนั้นระบุ
แต่ที่เจ็บปวดที่สุดก็คือในปี 1993 ในขณะที่ทีมชาติบราซิลกำลังเตรียมตัวสำหรับฟุตบอลโลก 1994 บาร์โบซา ก็อยากจะเข้าไปเยี่ยมรุ่นน้องในค่ายเก็บตัวเพื่อให้กำลังใจ ในฐานะนักเตะที่เคยเล่นในนัดชิงชนะเลิศเวิลด์คัพ แต่ความหวังดีของเขาก็ถูกปฏิเสธจาก มาริโอ ซาร์กัลโล ที่ตอนนั้นเป็นผู้ประสานงานของทีมชาติ เนื่องจากมองว่าเขาจะนำพาความโชคร้ายมาสู่ทีม
“มันคือรูปแบบหนึ่งของความโหดร้าย กับการที่เขาถูกมองข้าม” ไฮเซอร์ กล่าวต่อ
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความเศร้าที่กัดกินหัวใจของบาร์โบซามาหลายสิบปี เทเซรา บอร์บา เพื่อนสนิทต่างวัยของเขาเล่าว่า แม้ว่าภายนอกจะดูเหมือนว่าเขาไม่เป็นอะไร แต่ในใจลึก ๆ นั้นเขาเจ็บปวดมาก จนบางครั้งแทบทนไม่ไหว
“เขาเคยแม้กระทั่งร้องไห้บนไหล่ของฉัน จนท้ายที่สุดเขาก็พูดในสิ่งที่เคยพูดมาตลอดว่า ‘ผมไม่ใช่คนผิด พวกเราทั้ง 11 คนต่างหาก'” เทเซรา กล่าว
อันที่จริงก่อนหน้านี้เขาก็เคยแสดงให้เห็นว่าเขาเจ็บปวดจากเหตุการณ์นั้นมากแค่ไหน หลังนำเสาประตูในสนามมาราคานาที่ได้รับเป็นของขวัญมาทำเป็นเชื้อเพลิงย่างบาร์บีคิว ในงานเลี้ยงรวมรุ่นนักเตะชุดรองแชมป์โลก 1950 ที่บ้านของเขา เมื่อปี 1963
“สเต็กที่ผมทำในวันนั้น คือสเต็กที่อร่อยที่สุดในโลก” บาร์โบซา เผยความรู้สึก
แม้กระทั่งหลังจากที่เขาจากโลกนี้ไปเมื่อปี 2000 แต่ความโหดร้ายที่มีต่อเขาก็ยังไม่จบ เขาถูกละเลย และไม่ค่อยได้รับการพูดถึงในแง่ดี จนกระทั่งในปี 2014 ได้นำเรื่องราวของเขาไปสร้างเป็นสารคดีที่ชื่อว่า ที่ทำให้คนได้เห็นมุมมองอื่นบ้าง
“เขาไม่เคยได้รับความสงบเลยในชีวิต แม้กระทั่งหลังจากที่เขาตาย” กูเดรียน นอยเฟิร์ท นักข่าวจากสถานีโทรทัศน์
นี่คือภาพสะท้อนให้เห็นว่า การตกเป็นจำเลยสังคม นั้นโหดร้ายแค่ไหน เมื่อความผิดพลาดเพียงไม่กี่ครั้งได้ทำลายชีวิตผู้รักษาประตูฝีมือดีจนหมดสิ้น ไม่ว่าก่อนหน้านั้นจะทำคุณงามความดีไว้อย่างไรก็ตาม
และมันคือหนึ่งในสิ่งที่น่าเศร้าที่สุด นับตั้งแต่มีการแข่งขันฟุตบอลกำเนิดขึ้นมา
“ในบราซิล โทษสูงสุดไม่ว่าอาชญากรรมใดคือจำคุก 30 ปี แต่ตลอด 50 ปีผมต้องชดใช้อาชญากรรมที่ผมไม่ได้ก่อ แม้แต่อาชญกรพวกเขาก็ได้รับการให้อภัยเมื่อชดใช้โทษเสร็จสิ้น แต่ผมไม่เคยได้รับการให้อภัยเลย” บาร์โบซา กล่าว